หลักการกำกับดูแล
บริษัท อาร์เอฟเอส จำกัด โดยคณะกรรมการชุดก่อตั้ง ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นและความสำคัญของการเป็นแบบอย่างที่ดี ในการกำกับดูแลกิจการที่มีความโปร่งใส ตามหลักปฏิบัติที่มีแนวทางไว้แล้วของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งทางบริษัท อาร์เอฟเอส จำกัด นำมาปรับใช้ให้เหมาะกับองค์กร โดยสรุปมีหลักการสำคัญคือ
1) องค์ประกอบของคณะกรรมการ : บริษัท อาร์เอฟเอส จำกัด โดยมีคณะกรรมการบริษัทเป็นผู้กำหนดทิศทางและกำกับดูแลการบริหารของฝ่ายบริหาร มีองค์ประกอบของคณะกรรมการโดยตำแหน่ง อันมีความสมดุลในการกำกับดูแลทิศทาง ทั้งจากผู้บริหาร มหาวิทยาลัย ผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะผู้ถือหุ้น และผู้บริหารจากคณะที่สามารถเข้ามากำกับดูแลนโยบายการเงิน และการจัดซื้อจัดหาอย่างโปร่งใส และยังประกอบด้วยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายท่าน จากภาคส่วนต่างๆ เพื่อนำความเชี่ยวชาญ และความเห็นอันเป็นประโยชน์มาร่วมสร้างองค์กรให้ดี เหมาะสมตามแนวทางของการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียน
2) ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ : บริษัทได้กำหนดนโยบายที่ชัดเจนถึงอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหาร และคณะกรรมการในการกำกับดูแลระดับทิศทางและนโยบายของฝ่ายบริหาร อันรวมถึงการกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบในด้านการกำหนดและอนุมัติงบประมาณ รวมถึงการทำธุรกรรมทางการเงิน อย่างชัดเจน
3) การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส : บริษัทดำเนินตามแนวทางการเปิดเผยข้อมูล โดยในระยะเริ่มต้นปีแรก ได้มีการสื่อสารผลการดำเนินงานกับลูกค้าทุกๆเดือน และสื่อสารผลการดำเนินงานให้กับผู้ถือหุ้นคือคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีทุกๆไตรมาส รวมถึงการรายงานงบการเงิน และการใช้จ่ายเงินขององค์กรให้คณะกรรมการทราบอย่างสม่ำเสมอ แม้จะอยู่ในงบประมาณที่อนุมัติแล้ว บริษัทได้จัดทำรายงานประจำปีให้กับกรรมการและลูกค้า แม้จะไม่ใช่บริษัทจดทะเบียน และมีแนวทางที่จะสร้าง Web site ให้เป็นช่องทางของการสื่อสารและเปิดเผยข้อมูล ในลำดับต่อไป
4) การควบคุมผลประโยชน์ซ้ำซ้อน (Conflict of Interest) : บริษัท ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบความสัมพันธ์ของผู้เข้ามามีส่วนร่วม ทั้งพนักงานไปจนถึงผู้บริหาร เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีส่วนได้ส่วนเสียระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับองค์กร รวมถึงการกำหนดแนวทางในการดำเนินงานภายใน เช่น ความสัมพันธ์ส่วนตัวความเป็นเครือญาติของพนักงานในองค์กร การกำหนดแนวทางการรับของกำนัลจากคู่ค้าหรือบุคคลภายนอก รวมถึงการรักษาข้อมูลความลับอันเป็นทรัพย์สมบัติขององค์กร
5) การควบคุมด้านการเงิน : บริษัทได้กำหนดการตรวจสอบและคานซึ่งกันและกันของการเงินผ่านแนวทางสำคัญดังนี้
• การกำหนดโครงสร้างที่ตรวจสอบซึ่งกันและกันของบัญชีและการเงิน
• การกำหนดกระบวนการทางการเงินที่กำกับดูแลด้วยจุดตรวจสอบและเอกสาร
• การกำหนดนโยบายด้านงบประมาณ และอำนาจอนุมัติ
• การดำเนินการด้านการจ่ายค่าตอบแทนพนักงานผ่านธนาคาร
• การบริหารเงินสดย่อย
• การบริหารสินทรัพย์ในองค์กร
• การรายงานการใช้จ่าย
6) ความเท่าเทียมกันในการบริหารบุคลากร : บริษัทได้กำหนดมาตรฐานการให้ผลตอบแทนพนักงานด้วยหลักเกณฑ์สำคัญคือ
• การกำหนด pay philosophy ด้วยการมีกระบอกเงินเดือนที่แบ่งตามระดับตำแหน่งงาน
• การวางกระบอกเงินเดือนโดยเปรียบเทียบกับการจ่ายของตลาด
• กำหนดแนวทางในการประเมินผลงานด้วยตัวชี้วัด และ competency
• เชื่อมโยงผลการประเมินต่อการขึ้นเงินเดือนและการให้โบนัส